The International Symposium
“Non-capital Cities as a Cultural Movement”

 

 

27 August 2016
13.00-17.00
House of Photography

 

คุณสุทธิรัตน์: วันนี้จะเป็นการนำเสนอผลงานและวิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กร แต่ละองค์กรเป็นใคร ทำงานอะไร มียุทธศาสตร์อย่างไร และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

 

House of Photography (ประเทศไทย)

นำเสนอโดย อาจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งหอภาพถ่ายล้านนา เชียงใหม่

หอภาพถ่ายล้านนา ก่อตั้งมา 3 ปี จากตึกที่เป็นบ้านร้าง เราขออนุญาตทางเทศบาลมาทำใหม่ โดยผมผู้ดูแลซ่อมแซมทั้งหมด จุดประสงค์แรกของหอภาพถ่ายฯ คือเพื่อต้องการใช้ภาพถ่ายให้ถูกต้อง และให้เชื่อมโยงระหว่างชุมชน นักศึกษา และออกไปสู่ภายนอกได้อย่างแท้จริง เพราะผมถือว่าภาพถ่ายเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถเป็น reference ที่ดี และสามารถบอกเล่าศิลปวัฒนธรรมประเพณีได้

เมื่อเราต้องการเอาหลายสิ่งเกี่ยวกับภาพถ่ายมารวมกันที่เดียว ประเด็นคือคุณต้องเข้าใจก่อนว่าคุณกำลังใช้ medium ตัวไหนที่จะนำออกไปสู่ข้างนอกได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะ medium แต่ละอันก็มีประโยชน์ต่างๆ กันไป เรากำลังพูดถึง medium ที่เป็นภาพถ่าย ภาพถ่ายของเรา หรือ collection ของผม ของหอภาพถ่ายฯ และของสาขาการถ่ายภาพด้วย เรามี collection ภาพถ่ายที่เยอะมาก ตัวผมเองก็ไปลงพื้นที่ในการสำรวจภาพโบราณ ดังจะกล่าวต่อไป

เมื่อเราจะใช้แต่ละสื่อแต่ละ medium ให้ถูกต้อง ในการทำให้เกิดความน่าสนใจและการเชื่อมโยงระหว่างงานวิชาการ นักศึกษา ชุมชน และโลกทั้งโลก เราต้องเลือกให้ถูกว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรและกระบวนการอย่างไรให้ไปสู่โลกทั้งโลกได้อย่างแท้จริง ถ้าตอนนี้มีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่คุณยังอยู่ที่เดียวคุณอย่าทำดีกว่าเพราะคุณไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจริงๆ  ฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำแล้วต้องคิดถึงผลลัพธ์ก่อน และกระบวนการตรงนั้นจะทำได้อย่างไรเพื่อไปสู่ผลลัพธ์นั้น

ดังนั้นผมจึงตัดสินใจเอาทุกๆ อย่างนำมาจัดกระบวนการ เมื่อไรก็ตามที่คุณจะทำคุณย่อมต้องคิดถึงมาตรฐาน คุณจะให้สิ่งที่คุณจะทำนั้นอยู่ในมาตรฐานใด ย่อมต้องคิดก่อนว่าจุดที่จะไปนั้นสุดท้ายมันคืออะไร มันต้องมีคุณภาพ และสิ่งที่จะได้รับอยู่ที่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำว่า ISO หรือได้มาตรฐานเกิดขึ้น นี่คือสิ่งแรกที่เราต้องคิดให้ได้ก่อนว่าคนอื่นเขาเป็นอย่างไร  อันดับแรกคือ ศึกษาผู้อื่นก่อน และเปรียบเทียบว่าข้อดีข้อเสียของใครเป็นอย่างไรบ้าง หยิบเอาข้อดีข้อเสียมาใช้ ข้อเสียไหนที่ไม่เกิดประโยชน์กับเราอีกแล้วนั่นคือตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับเรา ก็อย่าเดินไปตรงจุดจุดนั้น แล้วเราหยิบทุกอย่างมาเขย่ารวมกันให้ถูกต้อง

เมื่อเราค้นหา นั่นคือ “ทาง” อย่างหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นทางที่จะทำให้เราเดินได้ มันก็ต้องใส่ทุกๆ อย่างที่ควรจะเป็นลงไปในเว็บไซต์ คุณต้องคิดว่าเว็บไซต์เป็นแค่ medium อย่างหนึ่ง แต่คุณจะทำ medium นี้ให้ดีได้อย่างไร จะทำให้มันดีและทำให้ทุกคนยอมรับได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเมื่อผมต้องการจะไปให้ถึงฐาน CPI ของโลก ผมจะทำอย่างไรได้บ้าง

ในเว็บไซต์หอภาพถ่ายล้านนา (http://cmhop.finearts.cmu.ac.th/about) ผมต้องการให้เห็นว่า ล้านนา หรือเชียงใหม่ทั้งหมดมีอะไรดีบ้าง ผมเลยเริ่มจากจุดจุดนั้น ก่อนอื่นผมต้องมาจัดลำดับขั้นให้ถูกต้องก่อน นี่คือหน้า main ของ House of Photography ในหน้าแรกมีอะไรบ้าง House of Photography คืออะไร University policies มีอะไรบ้าง Vision Missions and Objectives เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ตรง 2 item นี้ คือ Committee & Annual Report

Committee คือรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่คุณเลือกมา เป็นผู้จะมาดูข้อมูลวิชาการ การบริหารงานวิชาการของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องมารับรองอีกทีหนึ่ง ทั้งนี้คุณต้องบรรจุลงไปในนี้ด้วยว่าใครที่ทำงานกับคุณบ้าง หรือคุณนั่งคิดอยู่คนเดียว มันอยู่ที่ standard ของคุณ working planning ได้รับการรองรับจากความคิดเห็นหลายๆ ส่วนงานไหม เพราะการที่เราจะนั่งคิดเองทำเองนั้นมันยังไม่ถูก ก็ต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้มาตรวจสอบ ประชุม ดูแลงานวิชาการ การบริหารงานวิชาการว่าเป็นยังไงบ้าง  เมื่อมีมาตรฐานและน่าเชื่อถือจึงจะนำไปสู่ส่วนอื่นๆ ได้

สิ่งนี้คือหัวใจของหอภาพถ่ายล้านนา มีด้วยกัน 2 อย่างใน Collections ของเราที่น่าจะอยู่ในระดับโลกได้ อันแรกคือ Archives ภาพโบราณ อันที่สองคือ Mural Painting ซึ่งน่าจะมีผมคนเดียวในเอเชียที่ถ่ายอย่างถูกต้องและครบถ้วน

1. Archives มีทุกจังหวัดในภาคเหนือ น่าน เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง หลวงพระบาง ฯลฯ1.

Collection #1: Nan City Collections

ตัวอย่างภาพชุด “คุ้มเจ้าราชบุตร” เราพบรูปถ่ายเยอะมากซึ่งเป็น collection ที่สมบูรณ์มาก คำถามคือทำไมต้องเป็นบ้านเจ้า เพราะในอดีตภาพถ่ายเป็นของแพง ต้องเป็นเจ้าที่มีสตางค์จึงสามารถถ่ายภาพได้  เมื่อถ่ายมาแล้วเก็บมาแล้ว ความน่าเชื่อถืออยู่ตรงนี้ครับ คุณต้องทำ Meta data อย่างครบถ้วน 100% ทั้ง Digital data และ Physical data ที่ต้องมีครบทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Relation หรือ Description ใบหน้าคนในภาพถูกต้องไหม ก็ต้องสืบค้นทุกภาพ เราไม่ได้ขายภาพ แต่สำหรับงานบริการวิชาการโดยตรง  เมื่อคุณต้องการภาพ ทุกภาพจะมี request information สามารถส่งคำขอมาที่หอภาพถ่ายฯ แล้วทางกรรมการดำเนินงานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเป็นผู้อนุมัติว่าจะให้ภาพไหม ทุกอย่างต้องทำอย่างละเอียดแม้แต่ Keyword รายละเอียดทุกรูปเป็นพันเป็นหมื่นรูป ต้องทำทุกรูปไม่มีเว้น เพราะผมบอกแล้วว่ามาตรฐานต้องเป็นสิ่งสูงสุด

2. Mural Painting ทุกภาพนี้ผมเป็นคนถ่ายเองและมีระบบในการจัดเก็บอย่างเคร่งครัดมาก เพราะมันย่อมต้องเป็นของจริงจริงๆ และต้องมีคำอธิบาย มันมีรายละเอียดประกอบหลากหลายมาก ภาพที่ลงเว็บไซต์นั้นสวยกว่าของจริง เพราะต้องมีการปีนป่ายขึ้นไปถ่าย ตัดสเกล ใช้อุปกรณ์และคนเยอะมาก กว่าจะได้ภาพถ่ายนี้มา

ตัวอย่าง Wiang Ta (North) วัดเวียงต้า (ทิศเหนือ) เป็นภาพที่เอามาต่อกัน แต่ละภาพมี index เมื่อคลิกเข้าไปแล้วจะแสดง Meta data ทั้งหมด มีแม้กระทั่งว่างานนี้อยู่ที่ไหน สถานที่ที่ภาพตั้งอยู่

ส่วนที่สองคือ Exhibitions ที่จัดอยู่ชั้นบนของหอภาพถ่ายฯ เราถือเป็นส่วนหนึ่งของงานบริการวิชาการ เราก็นำมาอธิบายต่อเพื่อคนรุ่นหลังจะได้อ่านได้  ถ้าคุณไปดูเว็บไซต์อื่น เมื่อคลิกเข้าไปดู exhibition จะพบว่าไม่มีอะไรเลย ว่างเปล่า คุณทำงานบริการวิชาการแล้วโยนทิ้งหรือครับ ไม่เก็บเลยหรือ นี่คือหน้าที่ที่คุณต้องเก็บและเผยแพร่ต่อด้วย

สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างคือ เว็บไซต์ที่ได้มาตรฐานต้องมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ  นอกจากนี้แล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งคือ stock photos ในนี้เป็นงานของนักศึกษาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ เป็นการขายภาพออนไลน์ แต่ละอันมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และทำยากมากครับ แต่การจะทำให้เป็นมาตรฐานนั้น คุณจะตัดสินยังไงมันก็อยู่ที่ตัวคุณเองว่าคุณจะทำยังไง นี่คือสิ่งที่ขาย  ส่วนรูปโบราณเราไม่ขาย เราทำสำหรับค้นคว้าและงานบริการวิชาการ แต่รูปสต็อกพวกนี้คืองานขาย เพราะนี่เป็นเว็บไซต์ของสาขาวิชาและภาควิชาคณะวิจิตรศิลป มช. เป็นหลัก จึง scope ที่งานของนักศึกษาคณาจารย์และเจ้าหน้าที่

 

KUNCI Cultural Studies Center (ประเทศอินโดนีเซีย)

นำเสนอโดย คุณ Antariksa ผู้ร่วมก่อตั้ง KUNCI Cultural Studies Center

KUNCI Cultural Studies Center ตั้งอยู่ที่ Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย ก่อตั้งปี 1999 มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 7 คน ประกอบด้วยคนหลากหลายภูมิหลัง ได้แก่ ศิลปิน คิวเรเตอร์ นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์มานุษยวิทยา

คำว่า KUNCI แปลว่า ลูกกุญแจ  เราเป็นศูนย์วัฒนธรรมศึกษาจากยอร์กยาการ์ตา เป้าประสงค์ของเราอธิบายค่อนข้างยาก ด้วยเหตุว่าเราไม่อยากจำกัดตัวเองอยู่ในนิยามใดนิยามหนึ่ง ช่วงต้นเราตั้งชื่อว่าศูนย์วัฒนธรรมศึกษา แต่ไปๆ มาๆ สองสามปีผ่านไปเราเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว เราจึงเปลี่ยนนโยบายขององค์กรไปเป็นการ “ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ” มีทั้งงานศิลปะ งามชุมชน งานวิชาการ ฯลฯ แล้วแต่ว่าสมาชิกอยากทำอะไร

KUNCI ให้ความสำคัญกับการทำงานผลิตองค์ความรู้เชิงวิพากษ์และการแบ่งปันความรู้ผ่านการผลิตสื่อ การพบกันข้ามสาขา การวิจัยเชิงปฏิบัติ ปฏิบัติการทางศิลปะ การเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ คือมีปฏิบัติการจริงบนฐานความรู้ เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ

ผมอยากจะนำเสนอโปรเจ็กต์ที่ KUNCI กำลังทำอยู่ – Ongoing project

 

  • Undisciplinary learning-remapping the aesthetic of resistance (District Berlin, 2016)

เป็นโครงการเกี่ยวกับผู้อพยพ เราสนใจการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากแอฟริกา จากอาหรับ สู่ยุโรปว่าผู้คนกลุ่มนี้มีการรวมตัวอย่างไร

  • Hack History (Yogyakarta, 2015-2017)

เป็นโครงการเขียนประวัติศาสตร์แก๊งสเตอร์ Gang history เริ่มมาในปี 2002 เราทำงานกับแก๊งสเตอร์สองแก๊งในชุมชนยอกยาการ์ตา เราสนใจประวัติศาสตร์ในแบบที่ไม่ใช่ทางการ เรื่องความขัดแย้งระหว่างแก๊งได้ผลิตองค์ความรู้ท้องถิ่น เป็น Gangster Knowledge อาทิเช่น วิธีหลบหลีกตำรวจ การขโมย การตีหัวระหว่างแก๊ง รวมถึงประวัติศาสตร์การสัก การไว้ผมยาว ไลฟ์สไตล์ของความเป็นแก๊งสเตอร์และสังคมมองแก๊งสเตอร์อย่างไร

  • Will your home become ours too? (Tropenmuseum, The Netherlands, 2017)
  • School of improper education (Yogyakarta, 2016-2019)

เราไม่ไว้ใจรัฐบาล ไม่เชื่อการศึกษาแบบของรัฐ เราอยากมีโรงเรียนของตัวเองเพื่อตั้งคำถามว่ามีโรงเรียนไปทำไม โรงเรียนทดลองนี้ไม่มีใบปริญญา เราสอนปรัชญา สุนทรียศาสตร์ เรากำลังจะเปิดโรงเรียนทดลองในเดือนตุลาคมนี้ และจะเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2020

แผนภาพนี้คือไทม์ไลน์โดยสรุปตั้งแต่ปี 1945 จนถึงปี 1998 ผมอยากจะกล่าวถึงบริบทสักเล็กน้อยของการเกิดขึ้นของความเคลื่อนไหวทางด้านศิลปะในอินโดนีเซีย  KUNCI กำเนิดขึ้นหนึ่งปีหลังยุคการปฏิรูปคือในปี 1999 ในเวลานั้นบรรยากาศของประเทศมีเสรีภาพมากขึ้น แต่เราต่างตกอยู่ในห้วงความสับสนของการมีเสรีภาพ จู่ๆ เราก็มีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ “ทำได้ทุกสิ่งทุกอย่าง” เราเกิดความสับสนกันมากว่าแล้วเราจะทำอะไรดีล่ะ?  ศิลปินบางส่วนก็ไปเข้าร่วมกับทางจาการ์ตาหรือเข้าสู่พรรคการเมือง

ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนั้นมีทั้งคนเจเนอเรชั่นที่มีชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบซูฮาร์โตกับคนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้เสรีภาพ เรามีช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นกันอยู่  KUNCI ตอนนี้เรามีคน 4 เจเนอเรชั่นในสมาชิกของเรา บ่อยครั้งผมก็รู้สึกแย่ที่จะต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผมกับคนเจเนอเรชั่นรุ่นเยาว์ใน KUNCI เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องฮึดต้องสู้กับรัฐบาลตลอดเวลา นั่นคือความคิดของผม แต่คนรุ่นใหม่นั้นไม่มีประสบการณ์แบบนั้นอยู่ในหัวเลย  แต่เราก็คิดว่าคนรุ่นเราไม่ได้อยากจะโรแมนติกหวนคืนสู่วันเวลาแบบนั้น เพียงแต่ผมอยากจะบอกว่ามันมีช่องว่างตรงนี้อยู่

อย่างไรก็ดี KUNCI มีหลักการ 3 แนวคิด เป็นความคิดความเชื่อของเราว่านี่เป็นหัวใจหลักของการทำงานและปฏิบัติการร่วมกัน นั่นคือ Nongkrong / Numpang / Nyantrik  

  1. Nongkrong แปลตรงตัวได้ว่า hanging out หนึ่งคือเราเน้นความสนุกสนาน เพราะนี่ไม่ใช่ “งาน” แต่เป็น “ชีวิต” ของเรา เราจึงรักที่จะทำ อันดับแรกเลยต้องมีความสนุกกับมัน การเปิดรับสมาชิกของเราก็ไม่มีอะไรมาก แค่ถูกชะตา คลิกกันก็เข้ามาร่วมกับเราได้แล้ว  สองคือการพูดคุยสนทนา เราชอบคุยกันมาก คุยกันได้ทุกเรื่อง  สามคือการปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าต่อตา (physical presence) เราเน้นการคุยกันตัวต่อตัวมากกว่าการสนทนาทางแชตกรุ๊ป เราถือว่าสิ่งนี้มีความสำคัญมาก เราใช้เงินไปมากมายกับการจัดพื้นที่ทางกายภาพ (physical space) ให้คนได้มาเจอกันเพราะเราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ  สี่คือความเท่าเทียม เราเชื่อจริงๆ ว่าคนเราเท่ากัน เราต้องการขจัดโครงสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงออกไป สมาชิกทุกคนคือ director ไม่มีใครสูงกว่าใคร เพราะเราทุกคนทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยกัน ตั้งแต่ล้างจาน ทำความสะอาด ยันเขียนโครงการไปจนถึงเซ็นอนุมัติ เป็นต้น  ห้าคือความสม่ำเสมอ เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ เพื่อจะทำความเข้าใจร่วมกันในหมู่สมาชิกต้องมีการพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ  สุดท้าย แน่นอนคือ มิตรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก มันสร้างไม่ได้ง่ายๆ แต่มันยากมากๆ ต่างหาก
  2. Numpang แปลตรงตัวได้ว่า freeloading หรือ hitchhiking โดยพื้นฐานแล้วไอเดียของมันคือ การแชร์พื้นที่ และการแชร์ความรับผิดชอบร่วมกัน
  3. Nyantrik แปลตรงตัวคือ commoning ไอเดียของหลักคิดนี้คือการแชร์ทรัพยากร การปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า และความสม่ำเสมอดังที่กล่าวไปแล้ว

สมาชิกของเราแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมาชิกหลัก (Core member) ปัจจุบันมี 9 คน ทุกคนมีเงินเดือน รับผิดชอบงานประจำ เซ็นเอกสาร เขียนรายงาน ทำงานวิชาการ ฯลฯ และสมาชิกชั่วคราว (Extended member) หมายถึงทุกคนที่สนใจมาใช้เวลาร่วมกันใน KUNCI ปัจจุบันมี 76 คน รวมไปถึงองค์กรที่อยากมาใช้ห้องสมุดหรือคุยงานในพื้นที่ของเรา

สุดท้ายคือเรื่องการเขียนรายงาน เราแบ่งเป็น 2 แบบคือ

  • Conversation-based reporting เราพบว่าการเขียนรายงานเป็นเอกสารต้องใช้พลังงานมหาศาล ต้องลงทุนลงแรงมากและไม่ค่อยได้ผล เราจึงติดต่อแหล่งทุน เชิญให้แหล่งทุนมาถึงที่ คุยกันต่อหน้าเลยว่าคุณเอาเงินไปเท่าไหร่ เอาไปใช้อะไรบ้าง และเกิดข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
  • Mistake-based reporting เรารายงานความผิดพลาด เพราะเรามองว่าการเขียนถึงข้อดีไม่มีใครเรียนรู้อะไร แต่เราเรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าความสำเร็จ เป็นโอกาสที่ดีให้เราพัฒนางานต่อ  เราอาจโชคดีเพราะแหล่งทุนของเราชอบมากกว่ากับการเขียนรายงานด้วยโครงสร้างแบบนี้

ผู้สนใจสามารถเข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ http://kunci.or.id/

 

 

Baan Noorg Collaborative Arts and Culture (ประเทศไทย)

นำเสนอโดย คุณจิระเดช มีมาลัย  ผู้ก่อตั้ง “บ้านนอก” จังหวัดราชบุรี  

Baan Noorg Collaborative Arts and Culture ก่อตั้งในปี 2011 เป็นการรวมตัวของศิลปินโดยมีผมเป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับหุ้นส่วนที่เป็นศิลปินอีกสองคน เริ่มดำเนินงานโดยมียุทธศาสตร์หนึ่งคือ สร้างรากฐานการพัฒนาชุมชนของพื้นที่ที่เราอยู่ และเป็นพื้นที่ทางเลือกในการ cross discipline ความรู้ต่างๆ ทั้งทางศิลปะ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เพราะพื้นที่ของเราอาจมีข้อจำกัดแต่ขณะเดียวกันก็มีความน่าสนใจในเรื่องชาติพันธุ์และผู้คนที่อยู่ในบริเวณแวดล้อมของชุมชน

ตำแหน่งที่ “บ้านนอก” ตั้งอยู่คือที่จังหวัดราชบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง ชุมชนที่เราอยู่คือตำบลหนองโพ หมู่ 2 เป็นชุมชนที่ผลิตนมหนองโพจำหน่ายออกทั่วประเทศ  ในชุมชนมีโครงสร้างน่าสนใจคือ เราอยู่ในพื้นที่โครงสร้างสามเหลี่ยมสองส่วนในพื้นที่อารยธรรมโบราณทวารวดี ชุมชนอยู่ระหว่างคูบัวกับนครปฐมซึ่งเป็นศูนย์กลางหนึ่งของอาณาจักรทวารวดีเก่า ชุมชนเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ จากตัวชุมชนไปทางตะวันออกสองชั่วโมงถึงกรุงเทพ ทางใต้สองชั่วโมงถึงหาดเจ้าสำราญ ทางตะวันตกสองชั่วโมงถึงพม่า  ชุมชนของเราอยู่ตรงกลางระหว่างกรุงเทพฯ เพชรบุรี และกาญจนบุรี  

เราชื่อว่า “บ้านนอก” เพราะว่าเราอยู่บ้านนอก ในชุมชนหนองโพแบ่งออกเป็น 10 หมู่บ้าน เราอยู่หมู่ 2 ชุมชนบ้านนอก หมู่ 5 บ้านใน หมู่ 6 บ้านเหนือ หมู่ 7 บ้านใต้  ในชุมชนบ้านนอกเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนซึ่งอพยพกวาดต้อนจากเชียงแสนเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว เป็นชุมชนเก่าแก่ และมีชาวแต้จิ๋วอพยพมาเมื่อร้อยปีที่แล้ว เข้ามาซื้อขายข้าวและตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ติดกันมีชุมชนชาวมอญที่อพยพมาจากหงสาวดีตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ทางใต้ของชุมชนหนองโพมีชาวลาวพวนและเขมรสูงอยู่ติดกันเป็นชุมชนใหญ่ๆ มีหนองโพ หนองรี หนองอ้อ หนองเบื้อง

                การทำงานของบ้านนอก โครงการหลักที่เราทำมี 2 ส่วน

  1. NPKD เป็นพื้นที่ที่เราทำงานร่วมกับเยาวชนในชุมชนเป็นหลัก ทำเวิร์กชอปให้เยาวชนในชุมชนและเยาวชนทั่วไปที่เข้ามาในชุมชน เราทำงานร่วมกับวัด โรงเรียนชุมชนที่หมู่บ้าน เยาวชนมาร่วมกิจกรรม ทุกๆ สองปีเราจะทำ NPKD Film Festival หนังที่สร้างโดยเยาวชนในชุมชน
  2. OFF LAB เราทำงานกับคนนอกพื้นที่ เอาคนภายนอกเข้ามาในพื้นที่ ให้เกิดการเรียนรู้ผสมผสานเป็น multi culture เพราะโดยพื้นฐานแล้วคนในชุมชนเองก็เป็นผู้อพยพ เราต้องการให้คนในชุมชน remind ตัวเองว่าเขาเคยเป็นผู้อพยพเหมือนกัน ไม่ให้เกิดความแปลกแยกระหว่างคนในและคนนอกและคนต่างถิ่น เพราะทุกวันนี้เองชุมชนก็มีคนอพยพมามากขึ้นโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ

 

NPKD กับ OFF LAB สองส่วนนี้เราทำงานควบคู่กันไปเสมอ โดยเฉพาะการสำรวจวิจัย การแลกเปลี่ยน และการจัดเสวนา  ในส่วนของ OFF LAB เรามี exhibition ซึ่งเป็น by project ที่เราทำ residency ขึ้นมาเพื่อรองรับศิลปินจากนานาชาติและในประเทศเพื่อเข้ามาทำงานในชุมชน ทำวิจัยต่างๆ และสรุปผลงานของ OFF LAB ในตัว exhibition

ทางบ้านนอกพยายามหารายได้เข้าองค์กรโดยการสร้างโปรแกรมขึ้นมาคือ Class room กับ Storage ส่วนสีน้ำเงินนี้เป็นส่วนที่เราช่วยเหลือตัวเองโดยการหา funding รูปแบบต่างๆ  ส่วนสีส้มคือ funding ที่มาจากสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแจแปนฟาวน์เดชั่น มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือองค์กรต่างๆ เช่นบริษัทผลิตผ้าในชุมชนก็ให้ความช่วยเหลือในส่วนของ residency เป็นต้น

NPKD จัดเวิร์กชอป ทำ Film Festival ส่วนนี้คือ Unlimited Art Workshop for Children คือทำอะไรก็ได้ ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เด็กอยากทำ เราเตรียมอุปกรณ์และทำงานร่วมกับวัดและโรงเรียน

เด็กๆ ที่เกิดที่นั่นก็ไม่เหมือนรุ่นผมสมัยเป็นเด็ก เพราะในสมัยก่อนเราสามารถวิ่งเล่นเข้านอกออกในพื้นที่ได้ แต่ปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนใหม่ๆ เข้ามาในชุมชนมากขึ้น  การทำงานของ NPKD เด็กๆ จะได้เข้าไปในบ้าน เข้าไปเจอผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นคนไทยวนพูดภาษาไทยวนให้เด็กๆ ฟัง  หนังบางเรื่องก็ใช้ภาษาไทยวนในการนำเสนอผลงาน

NPKD ยังทำงานในพื้นที่อื่นๆ ในชุมชนนานาชาติ เช่นที่ Muabit เบอร์ลิน Lanyu ไอส์แลนด์ และที่ Tam sui ไทเป

OFF LAB มาจาก day OFF LABoratory มาจากแนวคิดที่ว่าวันหยุดเรียน เราคิดว่าวันหยุดเราเรียน หรือวันหยุดเรียน คือไม่เรียน แนวคิดของ OFF LAB คือถ้าวันหนึ่งสตูดิโอถูกปิดลง เราจะทำงานต่อได้ไหม วันทำงานกับวันหยุดเป็นวันเดียวกัน ทุกๆ วันเป็นวันหยุดเรียน

  • OFF LAB#1 pop-up museum

OFF LAB โปรเจ็กต์แรกเมื่อปี 2014 คือ pop-up MUSEUM เรา pop-up ตัวชุมชนทั้งชุมชนขึ้นมาเป็นมิวเซียม โดยให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 29 คนจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากหลากหลายสาขาไม่ว่าจะเป็นสังคมศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ และภาควิชาแฟชั่นฯ สิ่งทอ  ในส่วนของ OFF LAB เราทำงานเกี่ยวโยงกับ NPKD เสมอ เพราะว่าคนจากนอกชุมชนเข้ามาเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะเข้าออกบ้านทุกบ้านได้ถ้าไม่มีเด็กๆ พวกนี้พาเข้าไป เวลาทำงาน OFF LAB เราจึงเอาเด็กๆ จาก NPKD ซึ่งเป็นฐานของชุมชนอยู่แล้วมาเข้าร่วมด้วย เขาก็นำพานักศึกษา/ศิลปินเข้าไปในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

OFF LAB ก็จะมีการ research และสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ใน OFF LAB 1 นี้เราทำเป็น model study ของหนองโพคอมมิวนิตี้ขึ้นมาเพื่อที่จะได้นำคนนอกเข้ามาในเรียนรู้ในพื้นที่แล้วสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้ง นอกจากนี้เราก็จัดการเสวนาโดยเชิญศิลปิน ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพรรณมาบรรยายในหลายๆ พื้นที่ เช่นที่วัด โรงเรียน เมรุเผาศพของชุมชน

  • OFF LAB#2 365 days: LIFE MUSE

ในปี 2016 นี้เราทำ OFF LAB ครั้งที่ 2 เราไม่ใช่แค่ pop-up ชุมชนขึ้นมาเป็นมิวเซียมแล้ว แต่เราทำให้ 365 วันกลายเป็นพื้นที่ที่เราสามารถศึกษาเรียนรู้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในชุมชนเรา เพราะทุกวันนี้มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 200 คน โรงงานรอบๆ ชุมชนเริ่มไม่รับคนงานไทยแล้ว เขาต้องการแรงงานพม่าซึ่งทำงานหนักกว่าและมีข้อต่อรองน้อยกว่าแรงงานไทย  สถานการณ์ตอนนี้ทำให้คนในชุมชนเริ่มรู้สึกว่าเวลาเดินไปตลาดจะมีคนต่างชาติชาวพม่าอยู่รอบตัวเขาเสมอ แม้กระทั่งในตู้เอทีเอ็มในชุมชนยังมี 4 ภาษา ไทย อังกฤษ พม่า เขมร  

ใน OFF LAB 2 เราทำงานร่วมกับศิลปินรับเชิญจากนานาชาติและไทยทั้งหมดรวมกัน 10 ประเทศ 16 คนเข้ามาในชุมชนทุกๆ เดือน เดือนละ 2-3 คน ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ศึกษาพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นที่วัดม่วง และพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน อ.โพธาราม  พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนี้เป็นพื้นที่ที่มีอารยธรรมโบราณเก่าแก่ จึงเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับศิลปินภายนอกที่เข้ามาในชุมชนของเรา

artist residency  เราเปิดขึ้นมาเพื่อรองรับตัวโปรแกรมและให้ศิลปินมีที่พักและมาทำงาน by Project เป็นพื้นที่แชร์สเปซ มาทำงานร่วมกันเป็น share space มีทริปที่เราพาศิลปินไปท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ

Baan Noorg Storage  เรารวบรวมงานของศิลปินจากทั่วโลก จัดครั้งแรกเมื่อปลายปี 2015 ได้เงินก้อนหนึ่งมาจ้างน้องๆ ช่วยทำงานในโครงการของเรา ในงานเป็นงานออกบูธขายงานศิลปะ ตัวงานมีตั้งแต่ของเด็ก 5 ขวบจนถึงงานของศิลปินแห่งชาติ

Baan Noorg Classroom  เราจัดให้มีห้องเรียนตามหลักสูตรในแต่ละช่วง เช่นตีเหล็กเป็นต้น

นอกจากนี้บ้านนอกก็รับงานเองด้วย โดยการไปคิวเรตงานงานให้กับองค์กรต่างๆ เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการจัดงานศิลปะของคณาจารย์ บ้านนอกก็เข้าไปดูแล หรือ Textile&Fashion symposium, BACC ก็เป็นส่วนหนึ่งที่บ้านนอกเข้าไปดูแลออร์กาไนซ์ มีรายได้เอามาใช้จ่ายในองค์กร  ที่ผ่านมาบ้านนอกยังทำงานแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างไทยกับไต้หวัน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนทำงานร่วมกับ WARF Lab ในสุราบายา เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูภาพยนตร์ของเด็ก คลังข้อมูลงานของบ้านนอกทั้งหมดได้ที่ http://www.jiandyin.com/projects/

 

Gallery SOAP and AIK: Art Institute Kitakyushu  (ประเทศญี่ปุ่น)

นำเสนอโดย คุณ Gen Sasaki ศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้ง Gallery SOAP เมืองคิตะคิวชู

Gallery SOAP ก่อตั้งปี 1997 โดย Keiichi Miyagawa และตัวผม Gen Sasaki ซึ่งเป็นศิลปินและเป็นคิวเรเตอร์ของที่นี่ เราได้ดัดแปลงอาคารบ้านทรงสูงโบราณสองชั้นซึ่งเป็นโรงงานขนมเก่ามารีโนเวทเป็น artist-run space พื้นที่แสดงงานศิลปะของศิลปินทั้งในญี่ปุ่นและนอกญี่ปุ่น และเรายังทำงานในโปรเจ็กต์ต่างๆ นอกพื้นที่แกลเลอรี ไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์ สถานีโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต บิลบอร์ด และตามท้องถนน เราจัดกิจกรรมดนตรีเชิงทดลอง ฉายหนังและวิดีโอ และการสัมมนา

ในพื้นที่ Gallery SOAP ยังมีเคาน์เตอร์คาเฟ่บาร์ การแลกเปลี่ยนสนทนาหลากหลายหัวข้อเกิดขึ้นที่นี่ในยามที่ผู้คนมานั่งดื่มชา เบียร์หรือค็อกเทล และไม่จำกัดเฉพาะคนในแวดวงศิลปะเท่านั้น ประชาชนธรรมดาทั่วไปก็มาดื่มกินที่นี่ได้อย่างอิสระ

โปรเจ็กต์ของ Gallery SOAP ได้แก่

RE/MAP PROJECT / 2001-2003

ในปี 2001 เราทำโปรเจ็กต์นี้ขึ้นโดยมีกิจกรรมหลากหลาย เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินกับนักสังคมศาสตร์ นักดนตรี สถาปนิก นักศึกษา และคนจากหลากหลายสาขาทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลีเข้าร่วม ผู้เข้าร่วมได้ลงพื้นที่ ประชุมสัมมนา มีการจัดคอนเสิร์ต เป็นโปรเจ็กต์ที่พูดถึงศิลปินและพื้นที่ของเมืองคิตะคิวชู

AIK (Art Institute Kitakyushu) / 2005 –

สถาบันนี้ก่อตั้งโดย Gallery SOAP เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และได้จัด KITAKYUSHU BIENNALE ขึ้นมา

KITAKYUSHU BIENNALE / 2007 –

โปรเจ็กต์นี้จัดมาสองครั้งแล้ว เป็นการจัดพื้นที่แสดงงานเวียนไปตามพื้นที่ต่างๆ ในคิตะคิวชู ไม่ว่าจะเป็นตึกเก่า ออฟฟิศเก่า พื้นที่สาธารณะต่างๆ และยังเวียนจัดในต่างประเทศด้วย ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์  KITAKYUSHU BIENNALE ในปีที่จะถึงนี้ได้ถูกรวมเข้าไปร่วมกับ AICHI TRIENNALA ซึ่งเป็นงานใหญ่ด้วย

HOTEL ASIA PROJECT / 2011 –

เป็นแพล็ตฟอร์มของความร่วมมือทางด้านศิลปะในระดับนานาชาติ โดยเป็นความร่วมมือของ ศิลปินที่มีภูมิหลังมาจากประเทศต่างๆ หลากหลายสาขา แนวคิดคือพูดถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน การเดินทาง เรามองว่าการเคลื่อนที่ของคนหรือศิลปินที่เป็นประเด็นระดับโลกมีความน่าสนใจ เราต้องการสร้างบริบท สร้างพื้นที่ และผลิตผลงานโดยการแลกเปลี่ยนผลงานระหว่างศิลปินต่างพื้นที่มาพัฒนางานร่วมกัน โปรเจ็กต์นี้มีการประชุมสัมมนา เชิญทั้งศิลปิน นักสังคมศาสตร์ สถาปนิก นักออกแบบ จากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีมาร่วม

THEME PARK / Hotel Asia Project 2011-2012

จัดขึ้นที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ในปี 2012 ตัวงานเป็นการหยิบเอาชิ้นส่วนข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ เช่น รายการทีวี หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ มาผสมผสานกันใหม่  เป็นการทำงานร่วมกันของศิลปินและคิวเรเตอร์จากประเทศจีน เกาหลี นอร์เวย์ และญี่ปุ่น

REAL ASTATE / LANDSCAPE Hotel Asia Project 2015

เป็นความร่วมมือของศิลปินกับคนในสาขาอาชีพต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในคิตะคิวชู (ญี่ปุ่น) ฉงชิ่ง (ประเทศจีน) และกรุงเทพฯ (ประเทศไทย)  โปรเจ็กต์นี้ต้องการรื้อสร้างภูมิทัศน์รอบตัวเรา เป็นการตีความชีวิตประจำวันและภูมิทัศน์ที่บิดเบี้ยวของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจการเมืองเข้าสู่ชิ้นงานศิลปะ จัดแสดงที่คิตะคิวชูปี 2015 และเดินทางไปจัดแสดงที่ฉงชิ่งและกรุงเทพฯ

LANDSCAPE Hotel Asia Project 2016-2017

เป็นโปรเจ็กต์เตรียมการจะจัดที่ Gallery SOAP ตุลาคมนี้ และที่จีนในเดือนธันวาคม และกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคมปีหน้า

ปีหน้า (2017) จะครบ 20 ปี Gallery SOAP เตรียมการจัดนิทรรศการครั้งใหญ่ ขอเชิญทุกท่านไปเยี่ยมเยียนได้ ติดตามข่าวสารได้ที่ http://g-soap.jp/

 

Phare Ponleu Selpak (ประเทศกัมพูชา)

นำเสนอโดย คุณ Vincent Buso ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Phare Ponleu Selpak ในจังหวัดพระตะบอง กัมพูชา

ก่อนอื่นผมขอเล่าย้อนกลับไปในปี 1985 ทุกอย่างเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยเขมรแดงปกครองกัมพูชา สมัยที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกอย่างเริ่มขึ้นในค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาในประเทศไทยที่อรัญประเทศ ค่ายผู้อพยพนั้นมีชื่อว่า Site 2 ในเวลานั้นมีอาสาสมัครชาวฝรั่งเศสประจำอยู่ที่ Site 2 สอนวาดรูป drawing ให้แก่เด็กๆ  ศิลปะนั้นเหมือนเป็นเครื่องมือเยียวยาในช่วงสงคราม แล้วก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นคือเกิดผลงานภาพวาดของเด็กๆ ที่สวยงามมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางเอ็นจีโอที่ทำงานในค่ายยังรักษาไว้อยู่

ปี 1986 ริเริ่ม Drawing class ใน SITE2 ค่ายผู้อพยพ ร่วมกับองค์กร Veronique Decrop

ปี 1988 องค์กร Phare ได้ก่อตั้งขึ้น

ปี 1994 เมื่อผู้อพยพได้กลับบ้านที่พระตะบองก็ยังคงใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดจิตใจ

พระตะบองเป็นเมืองติดพรมแดนกับประเทศไทย บริเวณดังกล่าวมีที่นาซึ่งทางองค์กร Phare ได้ซื้อเพื่อสร้างเป็นอาคารถาวรที่ทำการของ Phare ที่พระตะบอง เด็กๆ ในตอนนั้นมีบาดแผลทางจิตใจมากจากสงคราม การวาดรูป drawing ยังคงเป็นกิจกรรมหลักของเรา และไม่นานหลังจากนั้นก็มีกิจกรรมเพิ่มเติมขึ้นมาคือการเล่นกายกรรม ในการจัดแสดงต่อหน้าสาธารณชนก็มีการกำหนดกฎเรื่องความปลอดภัยและกฎในการทำงานร่วมกันของเด็กๆ

คำว่า Phare แปลว่า ไฟ  Phare Ponleu Selpak แปลว่า Brightess of the Arts หมายความว่า แสงสว่างแห่งศิลปะ

20 ปีต่อมา Phare Ponleu Selpak (PPS) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรของกัมพูชาที่ทำงานอาสาสมัครกับเด็กๆ เยาวชนและครอบครัว กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จมากคือกายกรรม ซึ่งได้จัดหลายครั้งโดยเฉพาะในเสียมเรียบ ทุกๆ วันจะมีนักศึกษา 1,200 คนเข้าร่วมกิจกรรมกับทาง PPS

การทำงานของ PPS มี 3 ส่วน คือ การฝึกอบรมด้านศิลปะ (vocational arts training) การบริการสังคม (social support) และโปรแกรมการศึกษา (educational programs)

  • Education Department เรามีศูนย์อนุบาลเด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็ก และห้องสมุด
  • Social Support เรามีโครงการปกป้องคุ้มครองเด็ก โครงการสนับสนุนสวัสดิการเพื่อเด็ก เช่น อาหารกลางวันฟรี ชุดนักเรียน จักรยาน อุปกรณ์การเรียน การรักษาพยาบาล และปัจจัยอื่นๆ
  • Performing Arts School แบ่งเป็น 4 หลักสูตร คือ กายกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี  และการละคร
  • Visual & Applied Art School โรงเรียนทัศนศิลป์และศิลปประยุกต์

ชั้นเรียนเบื้องต้น ประกอบด้วย ชั้นเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 13 ปี ชั้น academic อายุ 13 ปีขึ้นไป และชั้น preparatory ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป

Vocational Training ใช้เวลา 3 ปี และมีการสอบเข้าด้วย

พื้นฐานและหัวใจหลักของหลักสูตรได้แก่ ดรออิง เพนท์ติง ศิลปะ ประวัติศาสตร์ การสื่อสาร การวาดภาพประกอบ คอมพิวเตอร์ การถ่ายภาพ และวิดีโอ 

  • Pedagogical team ครูทั้งหมดเป็นชาวเขมร และเป็นผู้ดูแลคณะกายกรรมที่เสียมเรียบด้วย

ยกตัวอย่างกิจกรรมต่างๆ ของชั้นเรียน อย่างการถ่ายภาพที่เราสอนใน PPS ไม่ได้เป็นการถ่ายรูปอย่างเดียวเพราะทุกวันนี้ใครๆ ก็ถ่ายรูปได้ เรามีอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบเก่า เป็นแบบ manual ไม่ใช่ดิจิทัล  เราให้เด็กชั้นปีที่ 1 วางวัตถุลงบนภาพถ่าย เรียกว่า Photogram  เราไม่ได้ต้องการสร้างผู้เชี่ยวชาญ แต่อยากให้เด็กๆ มีความรู้ทั่วไป เพราะเด็กๆ จะออกจากโรงเรียนเร็ว เลิกศึกษาเร็ว เราอยากให้เด็กๆ มีความรู้ที่กว้างขวาง และเน้นถึงวัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง

 

ArtBridge ChiangRai  (ประเทศไทย)

นำเสนอโดย คุณพจวรรณ พันธ์จินดา แห่งขัวศิลปะ เชียงราย

สำหรับขัวศิลปะ เชียงรายนั้น ดิฉันอยากเริ่มต้นการนำเสนอจากข่าวเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2016 เนื้อหาข่าวมีว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศผลักดันให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่น และเพราะเชียงรายมีศักยภาพที่จะเป็นเมืองศิลปะแห่งแรก  ทางเชียงรายเราก็ตื่นเต้นและหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน

ดิฉันจะเล่าถึงประวัติความเป็นมา ก่อนจะมาเป็นขัวศิลปะเราจะไม่พูดถึงศิลปินสองท่านนี้ไม่ได้เลย นั่นก็คือ อ.ถวัลย์ ดัชนี และ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์  อ.ถวัลย์เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่กลับไปอยู่บ้านเกิดที่เชียงราย

เชียงรายเป็นจังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย มีชายแดนติดกับพม่าและลาว เป็นสามเหลี่ยมทองคำ เชียงรายมีประวัติศาสตร์ของตัวเองคือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา  อ.ถวัลย์กลับไปอยู่บ้านเกิด และมีแนวคิดต่อต้านส่วนกลาง โดยการใช้ภาษาคำเมืองและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นการตอบโต้ส่วนกลาง  ช่วงเดียวกันนั้นเองมีศิลปินรุ่นน้องที่เรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรและขายงานได้ก็กลับไปบ้านเกิดในปี 2536 ช่วงนั้นรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ มีการส่งเสริมเศรษฐกิจให้ไทยเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย ศิลปินส่วนหนึ่งขายงานได้จึงกลับไปอยู่บ้านเกิด ประกอบกับเชียงรายมีโครงการพัฒนาดอยตุง ทำให้เมืองไม่เป็นเมืองบ้านนอก ศิลปินหลายๆ คนจึงกลับไปอยู่ที่เชียงราย

จากนั้น อ.เฉลิมชัยได้เจริญรอยตาม อ.ถวัลย์ กลับไปบ้านเกิดที่ตำบลบ้านร่องขุ่น และสร้างวัดร่องขุ่นขึ้น นี่เป็นสองแรงกระเพื่อมใหญ่ และยังมีศิลปินนอกเหนือจากนี้อีกด้วย พอเริ่มมีศิลปินมากขึ้น ทาง อ.ถวัลย์ก็รวมกลุ่มศิลปินจัดนิทรรศการในเชียงรายและในกรุงเทพฯ  

ปี 2544 คุณสมพงษ์ สารทรัพย์ ได้เปิด Nine Art Gallery ขึ้นที่เชียงรายซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน แกลเลอรีนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นพื้นที่การรวมตัวของศิลปินช่วงแรกๆ ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาก่อนจะเกิดขัวศิลปะขึ้น การรวมตัวทำให้เกิดสมาคมศิลปินเชียงราย และเกิดการเรียกร้องหอศิลปของตัวเองในปี 2547 เป็นโครงการสร้างหอศิลปกลางแม่น้ำกก มีการประโคมข่าวครั้งใหญ่ในช่วงนั้น และมีการจัดนิทรรศการครั้งใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพ  โครงการนี้เป็นโครงการแรกที่ศิลปินอยากให้เกิดศูนย์กลางด้านศิลปะของชาวเชียงรายและศิลปินเชียงรายขึ้นมา แต่ว่าโครงการนี้ก็ล้มไปเนื่องจากนักการเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนขั้วการเมือง เมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นเสียงข้างมากในสภา นักการเมืองท้องถิ่นไม่ได้สังกัดเพื่อไทย จนเกิดรัฐประหาร 2549 โครงการนี้ได้ล้มไปโดยปริยาย ศิลปินเชียงรายเริ่มคุ้นชินกับการดีลงานกับรัฐที่ดูเหมือนจะไปได้แต่ท้ายที่สุดก็ต้องล้มไป

หลังจากนั้นยังมีโปรเจ็กต์อื่นๆ จากส่วนกลางเข้ามา เหมือนจะมีเงินมาทำวิจัยแต่ท้ายสุดโครงการต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ทำให้ศิลปินเริ่มท้อใจว่าเราไม่ควรพึ่งพารัฐ  ช่วงที่มีการผลักดันโครงการหอศิลปเชียงราย มีอาจารย์ท่านหนึ่ง (พลวัฒ ประพัฒน์ทอง) ทำวิจัยเรื่อง “เชียงราย: เมืองศิลปิน” โดยทำวิจัยบ้านศิลปินในเชียงรายจำนวน 13 หลัง โดยผลักดันไปทาง ททท. เพื่อให้สนับสนุน “เชียงราย เมืองศิลปิน” โดยจัดให้มีการท่องเที่ยวบ้านศิลปินเชียงราย

หลังจากนั้นสมาคมศิลปินเชียงรายซึ่งมีสมาชิกเกือบร้อยคนกำลังจะจัดประชุมเพื่อยุติสมาคม แต่ช่วงเวลานั้นเอง อ.เฉลิมชัยได้สนับสนุนเงิน 5 แสนบาทให้เอาไปทำกองทุนสนับสนุนศิลปินในจังหวัดเชียงราย จึงเกิดการตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาเพื่อร่วมกันคิดว่าจะจัดการเงิน 5 แสนบาทอย่างไรให้ยั่งยืนและเกิดดอกผลงอกเงย  

โปรเจ็กต์ขัวศิลปะเกิดขึ้นจากคณะกรรมการกองทุนฯ โดยการเสนอของคุณอังกฤษ อัจฉริยโสภณ ซึ่งได้เสนอโมเดลขัวศิลปะขึ้นมา มีการประชุมของศิลปินเพื่อโหวตและได้คะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ โครงการขัวศิลปะเกิดขึ้นจากกองทุนศิลปินเชียงราย โดยกองทุนนี้เป็นแบบสหกรณ์ให้ศิลปินซื้อหุ้นหุ้นละ 1,000 บาท เรายังเปิดขายหุ้นให้คนทั่วไปที่สนใจสนับสนุน  โมเดลขัวศิลปะนอกจากเป็นหอศิลปแล้วเรายังมีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ในอนาคตจะมีโรงเรียนสอนศิลปะด้วย เป็นการสร้างหอศิลปของเราเองโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ จึงเกิดการระดมทุนขึ้นมา  มีการระดมทุนและแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยจัดอีเว้นท์ประติมากรรมไม้ไผ่ พอได้เงินมาก้อนหนึ่งเราก็เริ่มโครงการ โดยการรีโนเวทตึกเก่าซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนเก่าให้เป็นขัวศิลปะ

วันที่ 10 มีนาคม 2012 ขัวศิลปะเปิดอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ดำเนินการมา 4 ปีแล้ว วันเปิดงานเรามีการแสดงผลงานของศิลปินเชียงราย  ขัวศิลปะมีร้านอาหาร ร้านของที่ระลึก โถงกลาง และห้องแสดงงาน และมีมุมหนังสือ แกลเลอรี ชั้นสองเราเปิดเป็นโรงเรียนสอนศิลปะ

ขัวศิลปะมีภารกิจคือช่วยศิลปินเชียงราย การศึกษาด้านศิลปะ และการทำคลังข้อมูลของศิลปินเชียงราย  เป้าหมายของเราคือ สร้างประชาคมศิลปิน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงราย และมีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด โดยใช้ศิลปะในการเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษาและศิลปวัฒนธรรม โดยมีภารกิจ 3 ข้อ

  1. สร้างรายได้
  2. พัฒนาการศึกษาด้านศิลปะ
  3. ฐานข้อมูลศิลปินเชียงราย

ข้อแรกเราสร้างรายได้จากร้านอาหาร ขายของที่ระลึก ขายผลงานศิลปะ เพื่อเอารายได้มาทำกิจกรรมของเราเอง  ข้อสอง การศึกษาด้านศิลปะ เรามีโรงเรียนขัวศิลปะ ทำเวิร์กชอปกับนักเรียน และศิลปินกันเอง และข้อสามคือ เราทำฐานข้อมูลของศิลปินเชียงรายขึ้นมา

“ขัวศิลปะ” คำว่า ขัว เป็นภาษาคำเมือง แปลว่าสะพาน เราต้องการเป็นสะพานศิลปะเพื่อเชื่อมไปสู่สังคม

นิทรรศการ “ขัวศิลปะ” จัดมาแล้ว 4 ครั้ง เป็นนิทรรศการที่รวมศิลปินที่เป็นสมาชิก จากร้อยคน เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนครั้งที่ 4 มีศิลปินเข้าร่วมเกือบ 200 คน เป็นนิทรรศการที่กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าขายงานได้จริงๆ สามารถนำรายได้มาเลี้ยงตัวเองได้จริง

เรายังมีงานของศิลปินเชียงราย เยาวชนจังหวัดเชียงราย กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่เราผลักดันขึ้นมา และศิลปินต่างชาติ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศจากความเป็นท้องถิ่นสู่ระดับนานาชาติ  มีการทำเวิร์กชอปกับเด็กและผู้ใหญ่ มีดนตรี การเสวนา art conversation ให้ศิลปินเชียงรายมีความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติมจากศิลปินที่เข้ามายังขัวศิลปะ  ส่วน Education tours ก็เป็นการเยี่ยมชมขัวศิลปะจากกลุ่มคนหลากหลาย ทั้งพระ ชาวเขา พนักงานบริษัท ฯลฯ

ติดตามข่าวสารของขัวศิลปะได้ที่ http://www.artbridgechiangrai.org/

 

San Art (ประเทศเวียดนาม)

นำเสนอโดย คุณ Zoe Butt คิวเรเตอร์และนักเขียน Executive Director and Curator of San Art ที่โฮจิมินห์ซิตี เวียดนาม

พรีเซนเทชั่นชุดนี้เป็นผลงาน 9 ปีที่ผ่านมาของ San Art ดิฉันจะนำเสนอยุทธศาสตร์ขององค์กรภายใต้บริบททางการเมือง คำว่า San แปลว่า platform รูปแบบ  San Art ก่อตั้งปี 2007 โดยศิลปิน 4 คน ทั้งหมดเป็นผู้ลี้ภัย San Art เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร กิจกรรมขององค์กรพูดถึงความเป็นสหศาสตร์เชิงวิพากษ์ อย่างที่เราทราบกันดีว่าเวียดนามเคยถูกปกครองโดยฝรั่งเศส  สำหรับความเป็นร่วมสมัยในปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางรูปแบบและความคิด สิ่งที่เราคิดคือทำอย่างไรให้ศิลปะไปเชื่อมต่อหรือเกี่ยวข้องกับศาสตร์อื่นๆ ทั้งสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือศาสตร์อื่นๆ

San Art เน้นย้ำโปรแกรมการให้การศึกษาเป็นหลัก เรามีกิจกรรมค่อนข้างเยอะมาก แต่ที่เราเน้นคือการเวิร์กชอป การทอล์ก การให้ความรู้ด้านศิลปะ และการผลิตผลงานอื่นๆ ด้วย โดยทำงานกับสายงานอื่นๆ เช่นเชิญนักจิตวิทยามาร่วมผลิตผลงาน หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ มาร่วมผลิตผลงานศิลปะ

หลายคนอาจไม่ทราบว่าในบริบทการทำงานศิลปะในเวียดนามมีปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์มาก การรวมตัวทำกิจกรรมใดๆ ต้องขออนุญาตจากรัฐก่อน โปรแกรมของ San Art จึงมีสองระดับคือ ระดับทางการที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กับอีกระดับคือเป็นรูปแบบใต้ดินที่ปิดเป็นความลับ

ปี 2014-2015 เรามีตึกสองตึก ตึกหนึ่งเป็นแกลเลอรีโชว์งานเป็นทางการเพื่อการขาย อีกตึกเป็นสตูดิโอเป็นที่พักอาศัยของศิลปิน ตึกแรกนั้นเป็นหน้าร้านที่คอยต้อนรับหรือโชว์ทางการ แต่เนื้อหาสาระการผลิตงานที่บอกไม่ได้อยู่ในตึกหลังนี้ ซึ่งศิลปินจะกินนอนสร้างผลงานกันที่นี่

การที่รัฐเซ็นเซอร์มากๆ และมีกฎหมายห้ามการทำงานของชาวต่างชาติซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เราจึงให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในโปรแกรม residency และผลิตผลงานในรูปแบบใต้ดินเพื่อเปิดทางให้ศิลปะได้ก้าวหน้าต่อ  

Consciousness Reality เป็นโปรเจ็กต์ที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระดับแนวราบ ถ้าเป็นความสัมพันธ์แนวตั้งจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ล่าอาณานิคมกับคนในอาณานิคม แต่มันมีอะไรที่น่าสนใจระหว่างกลุ่มคนในอาณานิคมด้วยกันที่เป็นความสัมพันธ์ในระดับแนวราบ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ที่มีประสบการณ์ร่วมและต่างกัน โปรเจ็กต์นี้จะนำเอาศิลปินเหล่านี้มารวมกันและแลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขารับรู้ร่วมกันได้ผ่านศิลปะร่วมสมัย

ที่ผ่านมามีโปรเจ็กต์ที่เพิ่งถูกปิดไปซึ่งน่าเสียดาย รวมถึง San art เองก็เริ่มมีปัญหากับทางการ เพราะเนื้อหาที่เรานำเสนอได้รับเสียงตอบรับที่ดี และรัฐก็เริ่มเข้ามาเพ่งเล็งว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรกัน

ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://san-art.org/

 

Chiang Mai Art Conversation (ประเทศไทย)

นำเสนอโดย คุณอธิคม มุกดาประกร  ผู้ร่วมก่อตั้ง CAC เชียงใหม่

จุดเริ่มต้น Chiang Mai Art Conversation มันเริ่มมาจากว่าเราชักชวนกันมาพูดคุยกันว่าเชียงใหม่เต็มไปด้วยศิลปินมากมาย และมีคนทำแกลเลอรีขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ทั้งแกลเลอรีเกิดใหม่ แกลเลอรีที่เกิดมาช่วงสั้นๆ แกลเลอรีที่พยายามอยู่ให้ได้นานแต่ก็อยู่ไม่ได้ เราคิดว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าจะเข้มแข็งแต่กลับป้อแป้อย่างไม่น่าเชื่อ เรากลุ่มศิลปินที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันมาเลยลองมาพูดคุยกัน เริ่มต้นมีอยู่ 10 กว่าคนมาแลกเปลี่ยนและหาทางทำยังไงให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางศิลปะ

เราเริ่มจากการมองไปที่ตัวเมืองและพบว่ามีศิลปินเยอะ พื้นที่เยอะ รวมทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม เช่นกิจกรรมทางวิชาการที่มาพูดคุยกันว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับความรู้ภาคส่วนอื่นๆ ยังไงบ้าง แต่ของพวกนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ กระจัดกระจาย ไม่สามารถเข้ามาเป็นเนื้อหาร่วมกันได้ สิ่งที่ขาดที่สุดของเชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องทุนทางความรู้ หรือทรัพยากรบุคคล แต่มันขาดการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ได้มาแลกเปลี่ยนเป็นเครือข่ายเป็นเนื้อหาที่มีพลังทางสังคมได้ เราเลยลงมาลุยทำเรื่องพวกนี้ดู

เราเลยหาทางสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้สิ่งที่อยู่ในแวดวงศิลปะ ไม่ว่าภาคการผลิตและภาคความรู้เข้ามาเชื่อมโยงกันมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเชื่อมโยงแล้วทำให้เกิดกิจกรรมทางศิลปะที่สัมพันธ์กับความรู้อื่นๆ มากขึ้น เราอาจสร้างผู้ชม สร้างภาคการบริโภคที่ทำให้วงการศิลปะมันเป็นไปได้ที่จะแข็งแร็งกว่านี้ ไม่ต้องพึ่งพารัฐแต่พึ่งพิงสาธารณชน

สิ่งแรกที่เราทำคือ เราชวนแกลเลอรีที่ต่างคนต่างอยู่เข้ามาคุยกันว่าเราอยากจะสร้างแผนที่ศิลปะขึ้น รวมถึงเว็บไซต์ฐานข้อมูลทางด้านศิลปะ งานนี้จัดขึ้นที่สำนักส่งเสริมวัฒนธรรมเชียงใหม่เมื่อปี 2014 ทุกคนเห็นร่วมกันและแชร์ข้อมูลแล้วพัฒนามาเป็น Chiang Mai Art Map ขึ้นมา

เราใช้เวลาเกือบปีในการรวบรวมข้อมูลแกลเลอรีทั่วเมือง เราเลือกเฉพาะพื้นที่ทางศิลปะที่จัดแสดงงานได้หรือจัดแสดงงานอยู่บ่อยๆ รวมเป็น Chiang Mai Art Map ฉบับ printed edition ขึ้น แผนที่จัดพิมพ์ขึ้นแจกฟรีทั่วเมือง เราทำมาทั้งหมด 3 ฉบับ ฉบับพิเศษคือฉบับ Gallery Night  ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจาก จิม ทอมป์สัน ที่ทำให้โครงการของเราสำเร็จได้ตลอดสองปีที่ผ่านมา  

ผลจากการทำ Art Map ทำให้แกลเลอรีได้รู้จักกันมากขึ้น และทำให้คนอื่นเห็นภาพรวมว่าพื้นที่ในเชียงใหม่ก่อให้เกิดกิจกรรมอะไรต่างๆ ได้บ้าง และกลายเป็นทุนพื้นฐานที่ก่อให้เกิดกิจกรรมตามมา เช่น Gallery Night เป็นต้น ในแผนที่เราสำรวจพบพื้นที่ทำกิจกรรมศิลปะทั้งหมด 64 แห่ง เป็นสตูดิโอ แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ และ art residency  ตอนทำ Gallery Night เราติดต่อไปยังพื้นที่ทั้งหมดนี้และพื้นที่ที่พอจะเดินถึงกันได้ เราชวนพื้นที่มาได้ทั้งหมด 39 แห่งในการจัด Gallery Night ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2016  บรรยากาศ Gallery Night มีกิจกรรมมากมาย ทั้งนิทรรศการ เพอร์ฟอร์แมนซ์ รวมถึงกิจกรรมพิเศษ อย่างเช่นมีการปิดไฟทั้งแกลเลอรีให้คนเข้าชมใช้ไฟฉายส่องไปที่ตัวงาน หรือจัดเวิร์กชอปทำภาพพิมพ์ตอนกลางคืน เป็นต้น

ตอนที่เราคุยกันเรื่องโครงสร้างของ art scene เชียงใหม่ เราคิดว่าถ้าตั้งองค์กรขึ้นมาเราต้องทำการศึกษาอย่างน้อย 3 ด้าน อันแรกคือคน สองคือพื้นที่ สามคือความรู้ ทั้งสามส่วนแยกจากกันไม่ขาดในการทำให้คนอื่นเข้าใจภาพรวมของศิลปะร่วมกันกับเราได้ ว่าศิลปะคืออะไร ทำความเข้าใจกับศิลปะได้อย่างไรบ้าง และคนทั่วไปจะเข้ามาสัมพันธ์กับมันได้อย่างไร  ส่วนตัวผมคิดว่าแวดวงศิลปะมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แต่ภาษาที่สื่อออกไปไม่ค่อยปรับจูนให้คนอื่นทำความเข้าใจร่วมกันได้ เราเลยต้องพยายามเรียนรู้ตัวเองก่อน แล้วหาทางสร้างภาษาจูนไปยังคนทั่วไป  เรื่องภาษาไทยก็มีปัญหาเรื่องการจูนภาษาวิชาการกับคนทั่วไป ภาษาศิลปะนี่แทบไม่ต้องพูดถึงเลย แทบไม่มีการจูนกันมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จึงทำให้เราต้องศึกษาสามด้านนี้เพื่อสร้างการอธิบายให้คนเห็นภาพ เข้าใจตัวตน และหาทางสัมพันธ์กับมันได้

จากแผนภาพ เมื่อก่อนวงสีแดง สีเขียว สีเหลือง ต่างอยู่แยกขาดจากกันไปเลย ถ้าเราจับมารวมกันได้เพื่อให้ contemporary art มันปรากฏตัวในสังคมสมัยใหม่ได้ เราคิดว่าอย่างน้อยเราต้องสร้างลิงก์ระหว่างกัน คือคนที่ทำงานเชื่อมสามส่วนเข้าด้วยกัน ระหว่างคนกับความรู้เราต้องการนักเขียน นักวิจารณ์ การเวิร์กชอปที่ส่งเสริมให้คนเข้ามาเรียนรู้ภาษาศิลปะแล้วสื่อสารกับคนทั่วไปได้ ระหว่างคนกับพื้นที่เราต้องการคิวเรเตอร์มากมาย เช่นกันระหว่างพื้นที่กับความรู้เราต้องการห้องสมุดศิลปะซึ่งตอนนี้เราได้แจแปนฟาวน์เดชั่นมาช่วยสนับสนุนในเกิดพื้นที่ ACS ขึ้นมา                  

เราพยายามทำความเข้าใจลักษณะความเป็นศิลปะของเชียงใหม่ เราเรียนรู้อย่างหนึ่งว่าศิลปะเชียงใหม่มีลักษณะที่จับจ้องตัวตนได้ยาก  ศิลปะทั่วไปอยู่ที่การพยายามสร้างวัตถุหรือหมุดหมายบางอย่างเพื่อแสดงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ศิลปะในเชียงใหม่ไม่ได้สร้างวัตถุ หรือถึงสร้างก็ถูกทำลายทิ้งได้ ไม่ว่าแกลเลอรีหรือตัวงาน แกลเลอรีทุกแห่งเกิดขึ้นมาเพราะเจ้าของต้องการเผยแพร่ชุดความคิด กลุ่มรสนิยมบางอย่าง แต่พอทุนหมดก็หายสาบสูญ เราจะทำยังไงที่จะ capture สิ่งเหล่านี้ไว้ว่าสิ่งที่คุณทำมันไม่หายไปไหน เราจะเก็บไว้ยังไงได้บ้าง นอกจากนี้งานกิจกรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นมาแล้วหายสาบสูญไม่เหลือหลักฐานไว้เลย ลักษณะของความเป็นศิลปะเชียงใหม่เป็น immaterial มากๆ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ตัวอย่าง Gallery Minimal ดำเนินการอยู่ที่ถนนนิมมานเหมินทร์มาประมาณ 7 ปี พอช่วงเข้าสู่ปีที่ 6 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองคือเกิดรัฐประหารปี 2557 มีการใช้มาตรา 44 อย่างเข้มงวดกับกฎหมายห้ามขายเหล้า บังเอิญแกลเลอรีก็โดนด้วย ซึ่งนั่นเป็นรายได้หลักของแกลเลอรีนี้มาตลอด ทำให้ Gallery Minimal แทบไม่มีกิจกรรมอีกแล้ว แต่เรายังหวังว่าเขาจะกลับมาทำได้ เราจึงยังรักษาเขาไว้ในแผนที่นี้ ตอนนี้เขาเป็น space ที่ไม่มี art แต่ก็ยังทำกิจกรรมด้านดนตรีอยู่บ้าง  

จุดหนึ่งที่ทำให้ศิลปะเชียงใหม่ไม่สามารถดำเนินไปอย่างแน่วแน่ก็มีเหตุผลด้านเศรษฐกิจด้วย การหาผู้สนับสนุนหรือหารายได้มีข้อจำกัดและเปลี่ยนแปลงไปตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ดังนั้นการหาทางบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมถึงกิจกรรมศิลปะอย่างงาน “กินข้าวรอเลือกตั้ง” ของคนที่สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งอิงกับประวัติศาสตร์ที่เคยมีการจัดกินข้าวที่ข่วงท่าแพช่วงเชียงใหม่จัดวางเมื่อสิบปีที่แล้ว ถ้าเราดูอดีตจะทำให้เห็นว่าสิ่งที่ทำในปัจจุบันมีรากฐานอย่างไร มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ  มันมีศิลปะที่เป็นลักษณะกิจกรรมชั่วคราวอยู่เรื่อยๆ และมีกิจกรรมที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นศิลปะหรือเปล่า อย่าง The Land Foundation ซึ่งมีฐานจากการใช้ชีวิต (Living Based)  เมื่อ 20 ปีก่อนเคยมีการถกเถียงว่าเชียงใหม่ควรมีมิวเซียมหรือเปล่า ผมไปเจอหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ โดยศิลปินท้องถิ่นของเชียงใหม่ คุณมิตร ใจอินทร์ กล่าวไว้ว่าการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ทำให้เกิดการสร้างประวัติศาสตร์ศิลปที่กลายเป็นตลาดที่ทำลายความสร้างสรรค์ เขาเสนอว่ามิวเซียมควรเป็นศูนย์รวมหรือแพล็ตฟอร์มของการทำกิจกรรม ไม่ใช่การสะสมอย่างเดียว

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมไม่รู้ว่ามีการส่งต่อมาถึงปัจจุบันหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่เราพยายามทำอยู่อาจเป็นสิ่งที่เชื่อมกับแนวคิดของคุณมิตร ใจอินทร์ นี่คือใจความสำคัญของสิ่งที่ CAC ทำมาตลอด คือการเชื่อมโยงคนเข้าหากัน เพื่อให้ความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อสังคมเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เก็บสะสมข้อมูลไว้เพื่อให้การสร้างสรรค์ครั้งต่อๆ ไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ต่อยอดไปได้มากกว่าเดิม

ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ที่ http://www.cac-art.info/

 

 

Zero Station (ประเทศเวียดนาม)

นำเสนอโดย คุณ Nguyen Hong Ngoc ศิลปินและคิวเรเตอร์ประจำ Zero Station ณ โฮจิมินห์ซิตี เวียดนาม

ดิฉันจะพูดใน 3 ประเด็นเพื่อให้คุณรู้จัก Zero Station ดังนี้ – ฉันรู้จัก Zero Station ได้อย่างไร? ฉันเข้าชม Zero Station ได้อย่างไร? ฉันร่วมงานกับ Zero Station ได้อย่างไร?

ผู้ก่อตั้ง Zero Station เป็นศิลปินท้องถิ่นในเวียดนาม เขาพยายามใช้พื้นที่และความรู้ไปแบ่งปันกับชุมชน นักศึกษา เยาวชนและศิลปินรุ่นใหม่ เขาก่อตั้ง Zero Station ขึ้นมาในการจัดสนทนา จัดนิทรรศการ ดิฉันอยากขอบคุณศิลปินท่านนี้มาก เขาสร้างทุกอย่างจากความรักของเขาเอง ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ เป็นการค่อยๆ ปูทางให้ชุมชนค่อยๆ เติบโตจากศูนย์ และความเป็นสถานีของ Zero Station ก็คือการส่งผู้คนจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้

ในพื้นที่ของ Zero Station จะเน้นกิจกรรมหลากหลายมาก เราคิดว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้มาเล่นกัน จะมีตั้งแต่จัดตลาดนัด จัดงานดนตรี จัดงานแสดง ฯลฯ  ส่วนตัวดิฉันคิดว่าเราน่าจะมีการให้ความรู้ทางด้านวิชาการศิลปะร่วมสมัยมากกว่านี้ เพราะเด็กรุ่นใหม่ยังขาดแคลนเรื่องการเข้าถึงความรู้เหล่านี้อยู่มาก 

  • Asian In/Visible station

New Project 2016-2018

เหตุผลที่ดิฉันร่วมทำงานกับ Zero Station ก็เพราะโปรเจ็กต์ Asian In/Visible station ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะรวบรวมเป็นแพลตฟอร์มให้ศิลปินเวียดนามและศิลปินต่างชาติร่วมทำงานและเข้าใจวิธีการทำงานที่เป็นระบบเป็นขั้นตอนมากขึ้น พื้นที่ที่ทำงานศิลปะร่วมกันมาจากหลายประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น พื้นที่เหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ศิลปะ อาจเป็นกึ่งๆ ร้านกาแฟ แกลเลอรี หรือเป็นพื้นที่กึ่งๆ ขอแค่เป็นพื้นที่ทางเลือกด้านศิลปวัฒนธรรม เราก็จะเข้าไปหาและทำงานร่วมกันมากขึ้น

  • Network artist

เราพยายามทำงานร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง เราคัดคนจากความรักในศิลปะ ความมีไฟแรงมากกว่าความมีชื่อเสียง แล้วเชื่อมต่อศิลปินกลุ่มนี้ไปยังศิลปินต่างชาติมากขึ้น

  • แผนที่ art space ในโฮจิมินห์ซิตี

แปดเดือนนับจากนี้จนถึงปีหน้า เราพยายามจะทำงานร่วมกับศิลปินในพื้นที่กึ่งๆ ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อทำ symposium จัด festival ต่างๆ มีหลายอย่างที่ต้องสื่อสารและยากที่จะทำได้ทั้งหมด แต่ถ้าไม่ลองเราก็ไม่มีทางรู้

ติดตามข่าวสารของ Zero Station ได้ที่ www.zerostationvn.org